เที่ยวทะเล เลือกครีมกันแดด ไม่ฟอกขาวปะการัง

Last updated: 7 ก.ย. 2566  |  1155 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เที่ยวทะเล เลือกครีมกันแดด ไม่ฟอกขาวปะการัง

บทวิจัยในปี 2005 ระบุว่า นักนิติเวชศาสตร์และนิเวศวิทยาจาก Haereticus Environmental Laboratory รัฐเวอร์จิเนียสหรัฐอเมริกา ได้ค้นพบรอยรั่วซึมของน้ำมันบนผิวน้ำในช่วง High Season ที่มีนักท่องเที่ยวตามแนวชายหาดกว่า5,000 คน ซึ่งเมื่อนักวิจัยได้นำตัวอย่างน้ำทะเลในบริเวณหาดดังกล่าวไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ พบการปนเปื้อนของสารประกอบในครีมกันแดดเคมีบางชนิดที่เป็นอันตรายต่อแนวปะการัง

ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยจากหลายประเทศที่ระบุว่าสารเคมีบางชนิด ก่อให้เกิดปัญหา ปะการังฟอกขาว ซึ่งเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์กันแดด 4 ชนิด ได้แก่

  • ออกซีเบนโซน หรือ บีพี 3 (Oxybenzone Benzophenone-3, BP-3)
  • ออกทินนอกเซต (Octinoxate Ethylhexyl Methoxycinnamate)
  • สี่เอ็มบีซี (4-Methylbenzylid Camphor หรือ 4MBC)
  • บิวธิวพาราเบน (Butylparaben)


โดยงานวิจัยในประเทศไทยส่วนใหญ่ระบุตรงกันค่อนข้างชัดเจนว่า Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) และOctinoxate (Ethylhexyl Methoxycinnamate) ส่งผลกระทบต่อสารคุมรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต หรือ DNA ของปะการัง โดยไปยับยั้งการสร้างเซลล์ใหม่ ซึ่งทำให้มีผลต่อการเจริญเติบโต และก่อให้เกิดการฟอกขาวของปะการังส่วนงานวิจัยเกี่ยวกับ 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben ถึงแม้จะไม่ได้ระบุสาเหตุที่ชัดเจนนัก



แต่ในสาระสำคัญของประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ออกมาล่าสุดเกี่ยวกับการห้ามนำเข้าและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ถือว่าครอบคลุมสารเคมีทุกชนิดที่ส่งผลให้เกิดปะการังฟอกขาว

อย่างไรก็ตามจากการเติบโตของอุตสาหกรรมสกินแคร์ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยการนำสารเคมีทางเลือกใหม่ที่ช่วยให้ผลลัพธ์จากการใช้งานดูเป็นธรรมชาติแทนสารเคมีรุ่นเก่าที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสง แต่ทำให้ผิวดูขาวไม่เป็นธรรมชาติ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบย้อนหลังเกี่ยวกับข้อกฎหมายห้ามใช้ครีมกันแดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยถือเป็นชาติแรกๆ ของโลกที่ออกกฎหมายนี้ ต่อจากรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐปาเลา ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะ โดย TSE มองการเคลื่อนไหวทางกฎหมายนี้เป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของมนุษยชาติและการเปลี่ยนแปลงที่ดี เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรทางทะเล

โดยมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่การคิดค้นผลิตภัณฑ์ ซึ่งวิศวกรเคมีถือเป็นบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ดูแลผิว หรือ Skincare ด้วยการขานรับข้อกฎหมาย และช่วยหาทางแก้ไขตั้งแต่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น



รศ.ดร.ภณิดา ซ้ายขวัญ
อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ TSE มองว่า ทางออกที่จะตอบโจทย์สำหรับผู้ที่หลงใหลกิจกรรมทางทะเลและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมคือ การเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมีรุ่นบุกเบิกอย่าง ไทเทเนียมไดออกไซด์ (Titanium dioxide TiO2) และซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) โดยผู้บริโภคสามารถสังเกตได้จากฉลากที่กำกับข้างผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าจะพบว่า ยังมีสารเคมีที่เป็นส่วนผสมจำนวนมากที่ส่งผลต่อการฟอกขาวของปะการัง เช่น ส่วนผสมในสบู่ แชมพู โฟมล้างหน้า เป็นต้น ซึ่งไม่รวมปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นทางสังคมอีกมากมาย แต่การมีกฎหมายห้ามใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมีบางชนิดในพื้นที่อุทยาน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ต้องควบคู่กับการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพด้วย



แน่นอนว่าการตรวจสอบว่าใครใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีต้องห้ามในพื้นที่อุทยาน เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก TSE จึงมีข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันการออกเครื่องหมายกำกับที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้งานได้มากขึ้น โดยไม่ส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตที่เคร่งครัดมากนัก

นั่นหมายถึง การใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดทั่วไปยังสามารถเลือกใช้สารเคมีที่มีขายทั่วไปได้อยู่ แต่เมื่อมีความจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่อุทยาน ต้องควบคุมให้ใช้งานได้เฉพาะผลิตภัณฑ์กันแดดที่ระบุว่า ‘ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล’ ซึ่งจะช่วยยกระดับการบังคับใช้กฎหมายใช้เป็นรูปธรรมและจับต้องได้มากขึ้น

วิศวกรรมเคมี

TSE หรือ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่เปิดมากว่า 32 ปีแล้วที่ไม่ได้มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งเสริมทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานอย่างครบวงจร และส่งเสริมให้มีความคิดริเริ่มในการพัฒนาธุรกิจด้านเคมีภัณฑ์ โดยไม่ได้ยึดติดกับการเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ เพราะเรื่องเคมีไม่ได้จำกัดเฉพาะในห้องแลป แต่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน



ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับสารประกอบในครีมกันแดดที่มีแนวโน้มว่าเป็นภัยต่อปะการัง สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ http://haereticus-lab.org/protect-land-sea-certification-3/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้