Last updated: 9 พ.ค. 2567 | 5534 จำนวนผู้เข้าชม |
ออมรอน เฮลธแคร์ เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการรณรงค์วัดความดันโลหิต ภายใต้แคมเปญตรวจคัดกรองความดันโลหิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดำเนินการโดย International Society of Hypertension พร้อมส่งมอบเครื่องวัดความดันโลหิตให้สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย
ข้อมูลสุขภาพกระทรวงสาธารณสุขระบุประเทศไทยมีผู้ป่วยจากโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ปี 2023 จำนวน 507,104 คน ซึ่งมีปัจจัยทั้งภาวะความเครียดสูงจากการดำเนินชีวิต เป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม
ยูซุเกะ กาโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออมรอน เฮลธแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า เดือนพฤษภาคมของทุกปีเป็นเดือนแห่งการวัดความดันโลหิต (May Measurement Month : MMM) ซึ่งเป็นแคมเปญตรวจคัดกรองความดันโลหิตระดับโลกที่ดำเนินการโดย International Society of Hypertension เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงด้วยการช่วยให้ผู้คนได้รับการวัดความดันโลหิตฟรี
ออมรอน เฮลธแคร์ จึงได้มอบเครื่องวัดความดันโลหิตให้กับสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อรณรงค์และช่วยให้คนไทยเข้าถึงการตรวจวัดความดันที่ถูกต้อง แม่นยำและอยากเน้นให้คนไทยได้วัดความดันทุกวันเพื่อรู้ทันโรคร้าย รวมทั้งเก็บข้อมูลผลการสำรวจนำมาวางแผนการดูแลสุขภาพของคนไทย
โดยมีเป้าหมายสนับสนุนและหวังเป็นหนึ่งกระบอกเสียงเพื่อช่วยผลักดันให้คนไทยได้ตระหนักต่อภัยใกล้ตัว คือ โรคความดันโลหิตสูง เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังคิดว่าโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่ในยุคปัจจุบันจากวิถีการดำเนินชีวิต การทำงานที่เร่งรีบ ความเครียดที่มากขึ้นส่งผลให้คนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้น และมีแนวโน้มของกลุ่มเสี่ยงมีอายุที่ลดลงกว่าที่ผ่านมา
ดังนั้นในฐานะผู้พัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ตรวจวัดความดันโลหิต ขอร่วมรณรงค์ให้คนไทยตรวจวัดความดันด้วยตัวเอง เพราะจะช่วยให้ติดตามสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากภาวะความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดหลายชนิด เช่น โรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตเสื่อม การตรวจความดันโลหิตด้วยตัวเองเป็นประจำ ช่วยให้คุณทราบถึงระดับความดันโลหิตและแจ้งเตือนสัญญาณอันตรายได้เร็ว
อีกทั้งการตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตัวเอง ช่วยให้ติดตามผลการรักษาและประสิทธิภาพของยา ช่วยให้แพทย์ผู้รักษาสามารถปรับยาและวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม
รศ.พญ. วีรนุช รอบสันติสุข หัวหน้าสาขาวิชาความดันโลหิตสูง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและกรรมการสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย เล่าว่า ปัจจุบันการวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้านนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง หลักการสำคัญ คือ ประชาชนทุกคนควรรู้ระดับความดันโลหิตของตนเองและรู้ว่าเมื่อไรควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
หากผลการวัดพบว่าความดันโลหิตมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มม. ปรอทถือว่ามีความดันโลหิตสูง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการประเมินและติดตามรับการรักษาอย่างเหมาะสม ในยุคปัจจุบันสถานพยาบาลมีการปรับกระบวนการให้ง่ายและเร็วขึ้น
ที่ผ่านมาผลสำรวจผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงในประเทศไทย ช่วงปี 2004 และ 2009 จะอยู่ที่ 21% ด้วยลักษณะสังคมเปลี่ยนสู่สังคมเมืองส่งผลให้เกิดความเครียดสูงขึ้น การรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็ม ประชาชนมีภาวะอ้วนมากขึ้น ทำให้แนวโน้มประชาชนเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น โดยช่วงปี 2014 เพิ่มขึ้นเป็น 25% และปี 2020 เพิ่มขึ้นเป็น 25.4% แม้ตัวเลขสถิติผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นไม่มากแต่หากเทียบกับจำนวนประชากรไทยทั้งหมด
แต่การเพิ่มขึ้น 1 % เท่ากับประชากรป่วยเป็นโรคความดันโลหิตเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับ 20 ปีที่ผ่านมา มีคนไทยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 10 ล้านคน และปัจจุบันมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเป็น 14 ล้านคน สะท้อนแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี
อย่างไรก็ตามข้อน่ากังวล คือ ประชาชนขาดความตระหนักถึงความสำคัญของการวัดความดันโลหิตด้วยตนเองเป็นประจำทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าป่วย จากผลสำรวจผู้ป่วยที่กล่าวมาข้างต้นจำนวน 13 ล้านคน จะมีผู้ที่รู้ตัวว่าป่วยเพียง 50% เท่านั้น และผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามีเพียงครึ่งหนึ่งที่สามารถควบคุมค่าความดันได้ตามเป้าหมาย
หากละเลยจะทำให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เนื่องจากการรักษาโรคความดันโลหิตสูงแพทย์จะทำการนัดผู้ป่วยทุก 4-6 เดือน เพื่อรักษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยต้องลางานไปพบแพทย์ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจหยุดชะงักและประชาชนมีค่าใช้จ่ายในระหว่างการรักษาทั้งค่ายา ค่าเดินทาง และอื่นๆ เกิดภาวะเครียดจากการอาการป่วย เป็นต้น
โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่รักษาได้แต่ไม่หายขาด มีเพียง 5-10 % เท่านั้นที่รักษาหายขาด โรคความดันโลหิตสูงแม้จะไม่แสดงอาการใดๆ แต่หากปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ทำให้เกิดหลอดเลือดตีบเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต มีผลต่อหลอดเลือดหัวใจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และภาวะหัวใจวายเป็นหลักส่งผลให้เกิดภาวะไตวาย
สุดท้ายเมื่ออวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายเสียหมดผู้ป่วยจะเสียชีวิต หรือในกรณีผู้ป่วยอยู่ในระยะที่เกิดภาวะแทรกซ้อนการรักษาจะยากขึ้น และต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชากรลดลง ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณะสุขและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2007-2019 ระบุว่าอัตราการเสียชีวิตของคนไทยที่เกิดจากภาวะไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือภาวะเลือดออกในสมอง มีจำนวนเพิ่มขึ้น
บางสาเหตุเพิ่มขึ้นถึง 100% และสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูงและภาวะเลือดออกในสมองจากประมาณ 30 คนเพิ่มขึ้นเป็น 50 คนต่อประชาชน 100,000 คน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูง ทำให้ภาพรวมเกี่ยวกับสถานการณ์โรคความดันโลหิตสูงในประเทศไทยไม่ดีนัก
อย่างไรกดีทางสมาคมฯ ได้ทำงานเชิงรุกในภาคประชาชนโดยการทำงานร่วมกับภาคเอกชน มีการจัดทำเฟซบุ๊คเพจ “เพราะความดันต้องใส่ใจ #BecauseIsayso” เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงทำให้ประชาชนสามารถศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง มีการให้สัมภาษณ์หรือเขียนบทความให้ความรู้แก่ประชาชน
รวมถึงการจัดงานวันความดันโลหิตสูงโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี มีการจัดกิจกรรมเสวนาให้ความรู้แก่ประชาชนในโรงพยาบาลต่างๆ และเวทีแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงในแง่มุมต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนและแพทย์ได้รับฟังโดยโครงการตรวจคัดกรองความดันโลหิตสูง (May Measurement Month) ซึ่งสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยร่วมมือกับสมาพันธ์ความดันโลหิตโลกทำงานรณรงค์ร่วมกันทุกปีในเดือนพฤษภาคม
29 ก.ค. 2567
11 มิ.ย. 2567
18 พ.ย. 2567