Last updated: 8 ก.พ. 2567 | 159 จำนวนผู้เข้าชม |
แกร็บ (Grab) ผู้นำซูเปอร์แอปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งให้บริการทั้งด้านเดลิเวอรี่ บริการการเดินทางและบริการทางการเงินดิจิทัล ครอบคลุมกว่า 500 เมืองใน 8 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
โดยแกร็บ ประเทศไทย เปิดอินไซต์นักท่องเที่ยวต่างชาติ เลือกเที่ยวเมืองรองใน 10 จังหวัดที่รัฐบาลเดินหน้าผลักดัน โดยมียอดใช้บริการเพิ่มขึ้นเท่าตัว ขณะที่พลัง ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ไม่แผ่ว ทั้งอาหารและมวยไทยที่ยังบูม ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ
วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เล่าว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของแกร็บเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศและกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ให้การท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ
โดยในปี 2566 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามากว่า 27 ล้านคน ซึ่งแกร็บยังคงเป็นตัวเลือกอันดับ 1 สำหรับบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เห็นได้จากยอดการใช้บริการที่เติบโตขึ้นถึง 139% เมื่อเทียบกับปี 2565
โดย 5 ชาตินักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยแกร็บมากที่สุด คือสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซียและจีน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนมีอัตราการใช้บริการที่เติบโตสูงที่สุดถึง 171% ทั้งนี้ 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวยังคงนิยมใช้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน Grab คือ ความสะดวกสบายในการใช้งาน มาตรฐานด้านความปลอดภัย และความโปร่งใสในเรื่องราคา
จากการศึกษาพฤติกรรมการใช้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน Grab ในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปีที่ผ่านมา เราได้พบ 5 เทรนด์สำคัญที่น่าจับตามองต่อเนื่องมาถึงปี 2567 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทรนด์การท่องเที่ยวเมืองรองที่กำลังมาแรง
โดยเฉพาะใน 10 จังหวัดที่รัฐบาลได้ประกาศผลักดันเพื่อพัฒนาให้กลายเป็นเมืองหลัก ซึ่งประกอบด้วย แพร่ ลำปาง นครสวรรค์ นครพนม ศรีสะเกษ จันทบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี นครศรีธรรมราชและตรัง รวมไปถึงการท่องเที่ยวตามกระแสซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลได้โปรโมทตามแนวทางส่งเสริมวัฒนธรรม 5F
ทั้งนี้อาหาร (Food) และศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) ที่ยังคงได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และสะท้อนผ่านยอดการใช้บริการเรียกรถไปยังร้านอาหารดังและสนามมวยที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
5 เทรนด์สำคัญที่สะท้อนผ่านพฤติกรรมการใช้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน Grab ในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปี 2566 ประกอบด้วย
เมืองรองมาแรง ‘กาญจนบุรี’ ขึ้นแท่นจุดหมายใหม่ของชาวต่างชาติ : การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของ ททท. ได้ผลักดันให้กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางไปเที่ยวเมืองรองเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยในปีที่ผ่านมายอดใช้บริการเรียกรถผ่าน Grab ใน 10 จังหวัดเมืองรองเติบโตขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จังหวัดกาญจนบุรีมีอัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงที่สุด รองลงมาคือ ลำปางและตรัง
ไทยแลนด์แดนช้อปปิ้ง ‘ห้างสรรพสินค้าและตลาดนัด’ ติดท็อปเดสทิเนชัน : จากข้อมูลการใช้บริการ 5 สถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นจุดหมายปลายทางที่ชาวต่างชาติชอบไปมากที่สุด คือ กลุ่มห้างสรรพสินค้าและตลาดนัดกลางแจ้ง ซึ่งได้แก่ เซ็นทรัลเวิลด์ ไอคอนสยาม-พารากอน ถนนข้าวสาร ตลาดนัดจตุจักร ตลาดจ๊อดแฟร์ (พระราม 9)
‘ซอฟต์พาวเวอร์’ อาหารและมวยไทย ไม่ว่าชาติไหนก็อยากลอง : ‘อาหารไทย’ ถือเป็นหนึ่งในจุดขายของประเทศไทยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาอย่างยาวนาน โดย 3 ร้านอาหารยอดฮิตที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปด้วย Grab มากที่สุด คือ ร้านเจ๊โอว เฮียให้ และเจ๊ไฝ ซึ่งโดดเด่นในด้านสตรีทฟู้ด
ขณะที่การเปิดประสบการณ์ดู ‘มวยไทย’ แบบติดขอบเวทียังคงได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวอเมริกัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ โดยในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปสนามมวยราชดำเนินด้วย Grab เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 4 เท่า สะท้อนให้เห็นถึงพลังซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่โด่งดังไกลไปทั่วโลก
นักท่องเที่ยวมั่นใจหันเรียกรถผ่านแอปฯ ที่สนามบินเพิ่มขึ้น 2 เท่า : การใช้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันในสนามบินกลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำคัญที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ด้วยจุดเด่นที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านความสะดวกสบายและความอุ่นใจในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยว โดยในปีที่ผ่านมายอดใช้บริการเรียกรถผ่านแอป Grab ภายในสนามบินเติบโตขึ้นกว่า 2 เท่า
บริการ ‘พรีเมียม’ ยังคงเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวมองหา : GrabCar Premium ถือเป็นบริการที่มาแรงที่สุดในปี 2566 โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มียอดใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า หลังการปรับภาพลักษณ์ใหม่ในช่วงต้นปีภายใต้คอนเซปต์ “The Ultimate 5 Sense Experience” ยกระดับการเดินทางผ่าน 5 ประสาทสัมผัส
10 ก.ย. 2567