Last updated: 20 ธ.ค. 2566 | 159 จำนวนผู้เข้าชม |
อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ฟื้นรายได้ทะลุเป้า 1,300 ล้านบาท ชูกลยุทธ์จับมือพาร์ทเนอร์ชิพลุยงานด้วยมืออาชีพเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ พร้อมลุยอุตสาหกรรมใหม่โอกาสเติบโตสูง
สรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป ประเทศไทย อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ เล่าว่า ปี 2566 เป็นปีแห่งการฟื้นตัวของธุรกิจงานแสดงสินค้าหลังสถานการณ์โควิด19 โดยสามารถกลับมาจัดงานได้อย่างเต็มรูปแบบส่งผลให้การดำเนินงานของ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กลับมาเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นรายได้รวมของบริษัทฯ ที่สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 900 ล้านบาท รายได้เป็นกลับมาเติบโตเป็น 1,300 ล้านบาท และทำได้ดีกว่าปี 2562 ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด19 ซึ่งมีรายได้รวมอยู่ที่ 880 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผลสำเร็จดังกล่าวเกิดจากการปรับตัว เปลี่ยนแปลงและพัฒนาองค์กรและธุรกิจตลอดเวลา แม้ในช่วงวิกฤตโควิดที่ไม่สามารถจัดงานได้เต็มรูปแบบ บริษัทฯ ไม่ได้หยุดนิ่ง แต่พลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการหาพันธมิตรเพิ่มเติม โดยสร้างความร่วมมือกันระหว่างบริษัทในเครือของ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ เพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์หลังโควิด19 ซึ่งกลยุทธ์นี้ทำให้บริษัทฯ สามารถเปลี่ยนคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันมาเป็นพันธมิตรหลักในการจัดแสดงสินค้าที่มีคุณภาพด้วยการนำจุดแข็งของพันธมิตรมาเสริมจุดแกร่งที่บริษัทฯ มี ทำให้งานที่จัดแสดงออกมาสมบูรณ์แบบมากที่สุด
อีกทั้งมองว่าการสร้างรายได้ของบริษัทฯ ในอนาคตมองไปที่คุณภาพของงานจัดแสดงมากกว่าปริมาณงาน เพื่อให้บริษัทฯ มีการเติบโตบนคุณภาพของงาน พร้อมทั้งเร่งพัฒนาบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมและดึงคนที่มีความสามารถมาทำงานร่วมกัน โดยในปีนี้การทำงานเชิงลึกด้านข้อมูลและเครื่องมือต่างๆ ร่วมกับบริษัทแม่ที่เป็นเบอร์หนึ่งผู้จัดงานแสดงสินค้าโลก เพื่อสร้างงานที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงและเป็นงานที่จับใจคน รวมทั้งเพิ่มจำนวนงานให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทำให้เกิด 7 งานใหม่ รวมกับ 6 งานเดิม ทำให้ได้งานในปี 2566 รวม 13 งาน
"เป้าหมายในปีนี้เราจะไม่ยึดติดกับการแข่งขันด้านอันดับเพียงอย่างเดียว สิ่งที่เราพยายามทำ คือ การผลักดันให้ทุกโชว์ของ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ก้าวขึ้นเป็นโชว์ระดับภูมิภาค เป็นงานที่ทุกคนในอุตสาหกรรมที่ต้องการดำเนินธุรกิจกับคนในภูมิภาคนี้ต้องเข้าร่วม จำนวนงานแสดงสินค้าของอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย"
สำหรับในปี 2567 จะมีทั้งหมด 15 งาน ครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ โดยมีงานที่เราจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เช่น Intermach, ProPak Asia, ASEAN Sustainable Energy, Thai Water Expo, CPHI, Food & Hospitality Thailand เป็นต้น และการร่วมมือกับบริษัทในเครือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ในหลายประเทศมาจัดงานแบบร่วมทุน (Joint Venture) โดยนำงานแสดงสินค้าที่ประสบความสำเร็จ เช่น งาน Jewellery & Gem Asean Bangkok, Cosmoprof CBE Asean Bangkok, APLF ASEAN และ Vitafoods Asia มาจัดขึ้นที่ประเทศไทย เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีการจับมือกับพันธมิตรรายใหม่และคู่แข่งการจัดงานจากต่างประเทศ ร่วมกันจัดงานใหม่ในปีนี้เพิ่มอีก 3 งาน คือ Plastics & Rubber Thailand, Medlab Asia และ Tyrexpo
อย่างไรก็ตาม มองว่าการการเพิ่มขึ้นของจำนวนโชว์และการผลักดันการจัดงานให้เป็นงานสำคัญของภูมิภาค ส่งผลบวกต่อประเทศไทยทั้งในภาคอุตสาหกรรม การลงทุนและการท่องเที่ยว เนื่องจากจำนวนผู้เข้าร่วมงานทั้งผู้ร่วมจัดแสดงงานและผู้เยี่ยมชมงานเป็นกลุ่มนักธุรกิจที่มีกำลังซื้อสูง โดยจำนวนผู้เข้าร่วมงานที่จัดขึ้นโดย อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยรวมประมาณ 20% ต่อปี สร้างมูลค่าการเจรจาการค้าและธุรกิจทั้งในการจัดงานและหลังการจัดงานปีละหลายหมื่นล้านบาท และยังส่งผลให้เกิดการจับจ่ายด้านการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจอีกจำนวนมาก
ส่วนเป้าหมายรายได้ในปี 2567 นั้น คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,180 ล้านบาท เนื่องจากบางงานมีการจัด 2 ปีต่อครั้ง และปี 2568 คาดว่ารายได้จะกลับมาพุ่งสูงอีกครั้งประมาณ 1,450 ล้านบาท ด้านปัจจัยบวกที่จะส่งผลดีต่อธุรกิจงานแสดงสินค้าในปีหน้านั้นอยู่ที่การฟื้นตัวของธุรกิจที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ด้วยแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของโลกที่ผ่อนคลายลง การพัฒนาและการเปลี่ยนของเทคโนโลยีในหลายอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการลงทุนเครื่องจักรและเครื่องมือในการผลิตใหม่ๆ นโยบายการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้าจากภาครัฐ ส่วนปัจจัยลบที่ยังส่งผลอยู่มีทั้งสงครามในบางพื้นที่ที่ยังไม่สงบ เศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ติดต่อกันง่ายขึ้น
นอกจากนี้ไทยมี Soft Power ที่มีเสน่ห์ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว อาหารและวัฒนธรรมที่สำคัญคือความเป็นมิตรและรอยยิ้มของคนไทยที่ทำให้ทุกคนอยากมาทำธุรกิจและร่วมงานในประเทศไทย
10 ก.ย. 2567