Last updated: 7 ก.ย. 2566 | 947 จำนวนผู้เข้าชม |
เมื่อไม่นานมานี้ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ “แอสตร้าเซนเนก้า” จำนวน 117,600 โดส ได้ขนส่งถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการส่งมอบเร็วขึ้นจากกำหนดเดิม แต่การนำออกใช้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าผ่านกระบวนการยืนยันคุณภาพครบถ้วนทุกขั้นตอน
โดยแอสตร้าเซนเนก้าได้ชี้แจงว่า วัคซีนแต่ละชุดผ่านการทดสอบมาตรฐานคุณภาพต่างๆ กว่า 60 ครั้ง ตลอดเส้นทางจากการผลิตถึงการฉีด อีกทั้งยังร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศ เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นว่าคุณภาพของวัคซีน ได้มาตรฐานที่วางไว้สำหรับประชาชนไทย การดำเนินการอย่างเคร่งครัดนี้มีไว้เพื่อตอกย้ำให้ทุกคนที่ได้รับวัคซีนมั่นใจว่า เป็นวัคซีนที่ได้มาตรฐานสูงสุด
ทั้งนี้ ตามกำหนดการ วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าชุดนี้จะผ่านขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพภายในสัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคม 2021 นี้
อย่างไรก็ตาม วัคซีนตัวนี้ได้รับการยืนยันว่า มีความปลอดภัยและสามารถป้องกันโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเว้นระยะเวลาในการให้วัคซีนโดสแรกและโดสที่สองห่างกันตั้งแต่ 4-12 สัปดาห์
ผลการทดลองทางคลินิกยังระบุว่า วัคซีนนี้สามารถป้องกันอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงและการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้100% ตั้งแต่ 22 วัน หลังจากฉีดวัคซีนโดสแรก โดยวัคซีนจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเมื่อยืดระยะเวลาระหว่างการฉีดวัคซีนโดสแรกและโดสที่สองห่างกันนาน 12 สัปดาห์ ซึ่งประสิทธิผลเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นจากระดับ 76% ขึ้นไปที่ระดับ 82%
ทั้งนี้ ถ้าประสิทธิผลปกติ 76% จะอยู่ในช่วงดัชนีระหว่าง 59% - 86% และถ้าประสิทธิผลอยู่ระดับ 82% ค่าดัชนีจะอยู่ระหว่าง 63% - 92% และวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าสามารถเก็บและจัดส่งที่อุณหภูมิเครื่องแช่เย็นทั่วไปที่มีใช้อยู่แล้วในระบบสาธารณสุขได้ คือ อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส จัดเก็บได้นานอย่างน้อย 6 เดือน
แอสตร้าเซนเนก้า หรือ เดิมเรียก AZD1222
โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา แอสตร้าเซนเนก้าร่วมทำงานกับพันธมิตรมากกว่า 20 ราย จัดตั้งสายการผลิตมากกว่า 12 แห่ง ซึ่งครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ เพื่อเร่งดำเนินการผลิตและส่งมอบวัคซีน
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นการคิดค้นร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและก่อตั้งเป็น บริษัท วัคซีเทค วัคซีนนี้พัฒนาด้วยการนำส่วนของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการถอดรหัสการสร้างหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ใส่ในโครงของอะดีโนไวรัส ซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้หวัดทั่วไปในลิงชิมแปนซีที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงและไม่สามารถแบ่งตัวได้
โดยหลังจากฉีดวัคซีนเซลส์ในร่างกายมนุษย์จะตอบสนองด้วยการสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเดียวกันกับหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสนี้ในกรณีที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายในภายหลัง
ทั้งนี้ ข้อมูลการวิเคราะห์ประสิทธิผลของวัคซีนมาจากการทดลองระยะที่ 3 โดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักรและบราซิล ซึ่งได้ทำการวิจัยในกลุ่มอาสาสมัคร 11,636 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งในจำนวนนี้มีอาสาสมัครผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 131 คน
ส่วนผลการวิเคราะห์ความปลอดภัยโดยรวมของวัคซีนมาจากข้อมูลการทดลองทางคลินิก 4 ครั้ง ที่ดำเนินการในสหราชอาณาจักร, บราซิล และแอฟริกาใต้ จากอาสาสมัคร 23,745 คน ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยกลุ่มอาสาสมัครมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและภูมิลำเนา มีทั้งผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงและผู้ที่มีโรคประจำตัวซึ่งควบคุมอาการ พบว่า มีความปลอดภัยและไม่มีรายงานเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยร้ายแรงที่เกี่ยวเนื่องกับวัคซีน
นอกจากการวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแล้ว แอสตร้าเซนเนก้ายังได้ทำการวิจัยขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้าตั้งเป้าดึงอาสาสมัครจากทั่วโลกให้เข้าร่วมการวิจัยมากกว่า 60,000 คน
โดยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าได้รับอนุมัติให้ใช้อย่างมีเงื่อนไหขหรือเป็นกรณีฉุกเฉินในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก รวมถึงการขึ้นทะเบียนสำหรับการใช้ในกรณีฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่จะช่วยเร่งให้145 ประเทศทั่วโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ ผ่านกลไกการจัดซื้อและจัดสรรวัคซีนของโคแวกซ์
เกี่ยวกับ แอสตร้าเซนเนก้า AstraZeneca (LSE/STO/Nasdaq: AZN) เป็นบริษัทวิทยาการชีวเภสัชภัณฑ์ที่มุ่งเน้นในการค้นพบ, พัฒนา และจำหน่ายยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบำบัดรักษาในสามสาขาคือ กลุ่มโรคมะเร็ง, โรคหัวใจ, ไตและระบบเผาผลาญ รวมทั้งระบบทางเดินหายใจและภูมิคุ้มกันวิทยา จากฐานหลักในเคมบริดจ์, สหรัฐอเมริกา แอสตร้าเซนเนก้าประกอบกิจการในกว่า 100 ประเทศ และนวัตกรรมยาของบริษัทแพร่หลายในหมู่คนไข้นับล้านทั่วโลกสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ astrazeneca.com *ข้อมูลทั้งหมดมาจาก แอสตร้าเซนเนก้า
11 มิ.ย. 2567
11 มิ.ย. 2567
29 ก.ค. 2567