Last updated: 20 ก.พ. 2567 | 900 จำนวนผู้เข้าชม |
การรักษาบำบัดโรคและการกินสมุนไพรเพื่อเสริมสุขภาพมีประวัติการใช้มาอย่างยาวนานในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรจากประเทศเก่าแก่อย่างจีน การใช้สมุนไพรเป็นเครื่องเทศผสมในอาหารของคนอินเดีย และในประเทศไทยที่มีการใช้สมุนไพรในอาหาร ยาและเครื่องสำอางอย่างต่อเนื่อง
ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลกมีมูลค่า 60,165.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในภูมิภาคเอเชีย 57.6 % อเมริกา 22.1 % ยุโรป 18 % ตะวันออกกลาง 1.5% ออสเตรเลีย 0.9% ขณะที่ประเทศไทยมีการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพร ติดอันดับ 7 ของของโลก ส่วนในภูมิภาคเอเชียไทยมีขนาดตลาดสมุนไพรเป็นอันดับ 4 รองจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
ขณะที่ไทยเป็นผู้นำการส่งออกสมุนไพรอันดับ 1 ของอาเซียน แต่ในตลาดโลกยังไม่ติด 1 ใน 10 เนื่องจากยังมีข้อจำกัดด้านมาตรฐานการผลิต อย่างไรก็ดียังพบมูลค่าการส่งออกสมุนไพรยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนมูลค่าการนำเข้าสมุนไพรมีแนวโน้มลดลง
สำหรับประเภทของสมุนไพรที่มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดได้แก่ พรรณไม้และส่วนของพรรณไม้ ประเภทของสมุนไพรที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงที่สุด ได้แก่ สารสกัด จากคาดการณ์ตลาดสมุนไพรในประเทศ ในปีพ.ศ.2570 มีมูลค่า 100,000 ล้านบาท ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ ยาอาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอางเครื่องดื่มสมุนไพรที่ได้รับความนิยม ขมิ้นชัน กระชายขาว ตะไคร้หอม บัวบก
ในขณะที่ตลาดสมุนไพรโลกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วคาดการณ์ปีพ.ศ.2573 มีมูลค่าถึง 2.7 ล้านล้านบาท เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สุขภาพยา เครื่องสำอาง สมุนไพรที่ได้รับความนิยม ขิง กระเทียม โสม และคาโมมายล์
เมธา สิมะวรา อดีตประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร สภาอุตสาหกรรม เล่าว่า ได้มอบหมายให้ประธานกลุ่มสมุนไพรคนใหม่สานต่อภารกิจและต่อยอดแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2566 – 2567 ที่วางเป้าหมายประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพที่ได้มาตรฐานและมีการเติบโตอย่างยั่งยืน
ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ต่อยอดด้วยนวัตกรรมให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล 6 ด้าน ได้แก่ 1.การส่งเสริมสมุนไพรผ่านอาหารไทยจากครัวไทยสู่ครัวโลก 2.การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของ SMEs ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม
3.เน้นตลาดในประเทศและCLMV 4.ยกระดับการผลิตด้วยเทคโนโลยี (SMART) 5.ส่งเสริมให้ส่วนภูมิภาคใช้สมุนไพรเป็นกลไกการพัฒนาและ
6.ส่งเสริมอุตสาหกรรมสารสกัด เพิ่มมูลค่าและความสามารถในการแข่งขัน โดยจะเน้นผลักดันให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
โดยที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวเฉลี่ย (CAGR) ของประเทศไทยในช่วงที่มีการประกาศใช้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 (ช่วงปีพ.ศ.2560-2566) สูงกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ในช่วงเวลาเดียวกัน
สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร สภาอุตสาหกรรม เล่าว่า หลังจากได้รับตำแหน่งนี้ จะเร่งผลักดันให้เกิดซอฟต์พาวเวอร์ด้านการใช้สมุนไพรที่ต้นกำเนิดมาจากไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี 3 นโยบายหลัก คือ 1.เป็นกระบอกเสียงในการรวบรวมข้อมูลส่งต่อให้ภาครัฐ เอกชน หน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาสมุนไพรไทยให้ตอบโจทย์ตลาด
2.สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการด้านสมุนไพรไทยในการช่วยกันสร้างผลิตภัณฑ์ ช่องทางการสร้างมูลค่าในตลาดและเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการไปยังตลาดโลก
และ3.ผลักดันเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ในด้านการนำสมุนไพรของไทยต่อยอดไปยังการรักษาโดยแพทย์แผนไทย และสนับสนุนให้เกิดตลาดส่งออกสมุนไพรจากแหล่งกำเนิดในไทย เช่น กระชายดำ เป็นต้น หรือการสร้างความรู้เกี่ยวอาหารไทยที่มีเครื่องเทศของสมุนไพรไทยผสมอยู่
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร อธิบายว่า การสร้างระบบนิเวศน์ของการนำสมุนไพรไปใช้อย่างตอบโจทย์ตลาดผู้บริโภคในระดับโลก โดยวิธีการทำหน้าที่เชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ในการสนับสนุนส่งเสริมการเพิ่มการบริโภคสมุนไพรภายในประเทศ และการส่งออกสมุนไพรไทยมูลค่าสูงในลักษณธของสารสกัด สมุนไพรแปรรูป ยาและอาหารเสริม ส่งออกไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะภูมิภาคที่มีความต้องการสูง เช่น ตลาดอาเซียนและCLMV
ในส่วนเอกชนนั้นใช้กลยุทธ์ “Economy Sharing” โดยกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรจะเป็นหน่วยงานเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการสมุนไพรไทยรายเล็กได้เรียนรู้การทำการตลาดจากรายใหญ่ซึ่งมีประสอบการณ์มากกว่า รวมถึงแนะนำแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงได้
อีกทั้งการจะไปยังตลาดโลกนั้นต้องไปอย่างมี Known How คือสินค้าต้องมีงานวิจัยรองรับและต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในวงกว้าง
โดยปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ช่วยเหลือด้านนี้ เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ และเครือข่าย TOPT เพื่อพัฒนายาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ดังนั้นการสร้างความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงสำคัญมากในการสร้างระบบนิเวศน์ให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยก่อน จึงจะเป็นที่สนใจของนักลงทุนและก้าวออกไปสู่ตลาดโลกและแน่นอนว่า ซอฟต์เพาเวอร์สมุนไพรไทยก็จะเกิดขึ้นเมื่อมีการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากทุกฝ่าย
11 มิ.ย. 2567
29 ก.ค. 2567
21 พ.ค. 2567
11 มิ.ย. 2567